สอนวิธีค้นหาคีย์เวิร์ด เขียนบทความ SEO ให้ติดอันดับหน้าแรกกูเกิล
ถ้าต้องการให้บทความ SEO ที่เราเขียนได้รับความนิยมติดอันดับอยู่ในหน้าแรกของ Google ก็ไม่ควรมองข้ามความสำคัญของ “คีย์เวิร์ด” (Keyword) เพราะหากเลือกคีย์เวิร์ดได้ถูกต้องก็จะทำให้บทความของเราถูกค้นเจอในเว็บ Search Engine อย่าง Google หรือ YouTube ได้มากยิ่งขึ้น แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าคีย์เวิร์ดนั้นมีคนค้นหามากที่สุด วันนี้เรามีเทคนิคเกี่ยวกับการค้นหาคีย์เวิร์ดที่ใช่มาฝากกัน
การค้นหาคีย์เวิร์ดทำ SEO เบื้องต้น
ก่อนอื่นต้องเข้าใจเรื่องการค้นหาคีย์เวิร์ด (Keyword Research) เบื้องต้นเสียก่อนว่ามีความสำคัญต่อการทำ SEO ทั้งส่วนที่เป็นหัวข้อบทความ, On-page SEO (การทำ SEO ในเว็บไซต์ให้ติดอันดับ), Email Outreach (การส่งลิงก์บทความไปยังกลุ่มเป้าหมายทางอีเมล) รวมถึงการโปรโมตคอนเทนต์ด้วย ทำให้การค้นหาคีย์เวิร์ดเป็นขั้นตอนแรกหรือเป็นเข็มทิศสำหรับการทำแคมเปญ SEO นั่นเอง
นอกจากนี้ Keyword Research ยังช่วยให้เราเข้าใจกลุ่มที่เป็นเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้นด้วย เพราะการค้นหาคีย์เวิร์ดทำให้เราได้รู้ว่าลูกค้ากำลังมองหาอะไร และได้รู้ว่าลูกค้าใช้คำค้นหาหรือวลีอะไร จึงทำให้ Keyword Research เปรียบได้กับการวิจัยด้านการตลาดในยุคศตวรรษที่ 21 เลยทีเดียว
Keyword Research ช่วยให้เว็บไซต์เติบโตได้อย่างไร
Keyword Research คือปัจจัยอันดับ 1 ที่ทำให้มีคนเข้าเว็บไซต์จำนวนมาก ซึ่งการใช้คีย์เวิร์ดที่ไม่มีการแข่งขันกันสูงมาก ส่งผลให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับในหน้าแรกของ Google ได้ และทำให้มีคนเข้ามาอ่านบทความนั้น ๆ ในเว็บไซต์เป็นประจำทุกเดือน
วิธีหาคีย์เวิร์ด
เมื่อทราบถึงความสำคัญของคีย์เวิร์ดแล้ว ก็ได้เวลาในการหาคีย์เวิร์ดที่เหมาะสมสำหรับบทความของเรา โดยต้องถามตัวเองให้ได้ก่อนว่าหัวข้อที่คนค้นหากันนั้นมีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจของเราตรงไหนบ้าง เพื่อนำไปวางกลยุทธ์ต่อได้ว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในส่วนไหน เช่น โซเชียลมีเดีย, Email marketing, คอนเทนต์การตลาด, บล็อก, โฆษณาแบบ Pay Per Click (PPC) เป็นต้น เมื่อได้หัวข้อมาแล้วมาลองดูวิธ๊กันว่าทำอย่างไรได้บ้าง
1) ใช้ Wikipedia หาคีย์เวิร์ด
Wikipedia เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดี มีแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ และถูกจัดเรียงอย่างเป็นระบบระเบียบ โดยวิธีการใช้ Wikipedia หาคีย์เวิร์ดทำได้ดังนี้
- เข้า Wikipedia หาแถบค้นหา และใส่คำค้นหากว้าง ๆ
- หน้าเพจจะพาคุณเข้าไปที่หัวข้อนั้น
- เลื่อนหาหัวข้อ Contents ในเพจ ซึ่งส่วนนี้จะมีลิสต์ของหัวข้อย่อยต่าง ๆ
- ลิงก์หัวข้อย่อยต่าง ๆ สามารถคลิกเพื่อเช็กสารบัญได้ด้วยว่ามีหัวข้ออะไรบ้าง
2) ค้นหาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคำค้นหา
อีกวิธีหนึ่งที่เข้าท่าไม่แพ้กัน คือการค้นหาสิ่งที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราค้นหา ซึ่งจะอยู่ด้านล่างสุดของหน้าค้นหาใน Google โดยมาเลื่อนลงมาดูจะพบว่ามีคีย์เวิร์ดที่ใกล้เคียงกับที่เราค้นหาให้เลือกอีก 8 คีย์เวิร์ดเลยทีเดียว
3) ค้นหาคีย์เวิร์ดจาก Reddit
Reddit เป็นเว็บบอร์ดชื่อดังของฝั่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งแต่ละเนื้อหาจะถูกแบ่งย่อยตามหัวข้อ เรียกว่า “Subreddit” เมื่อเข้าไปใน Reddit แล้วค้นหาหัวข้อด้วยคำค้นหากว้าง ๆ ที่เกี่ยวกับสินค้าที่เราต้องการขาย จากนั้นให้กดเข้าไปดู Subreddit นั้น ๆ แล้วจะเห็นว่ากระทู้ใด้รับความนิยมมีคนเข้าไปคอมเมนต์เยอะ ซึ่งสามารถนำมาเป็นคีย์เวิร์ดได้
นอกจากนี้ คีย์เวิร์ดใน Reddit ที่เรียกว่า “Keyworddit” ถือว่าเป็นเครื่องมือชั้นดีที่ไม่ต้องเสียเงินในการหาค้นหาคีย์เวิร์ดด้วย โดยจะมียอดค้นหาประจำเดือนแสดงให้เห็นว่ามีมากน้อยเพียงใด
4) ใช้คำค้นหาที่ Google และ YouTube แนะนำ
Google มักจะแนะนำคีย์เวิร์ดยอดนิยมมาให้ ซึ่งคำที่ Google แนะนำมานั้นถือว่าเป็นคีย์เวิร์ดที่ดี เพราะเป็นคำที่คนจำนวนมากใช้ในการค้นหากันนั่นเอง ซึ่งนอกจากนี้ คำค้นหาที่ Youtube แนะนำก็สามารถนำมาใช้เป็นคีย์เวิร์ดได้ไม่ต่างกัน
5) ค้นหาหัวข้อยอดนิยม จากการใช้ Forum
Forum เป็นอีกช่องทางที่จะทำให้เราได้หัวข้อดี ๆ มาต่อยอดในการหาคีย์เวิร์ด เพราะเป็นบอร์ดสนทนาที่มีคนเข้าไปพูดคุยกันได้สด ๆ ตลอดเวลา ซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุดที่จะเข้าไปอยู่ในกลุ่มที่เป้าหมายของเราอยู่ด้วย คือการพิมพ์ข้อความค้นหาผ่าน Google โดยให้พิมพ์คีย์เวิร์ดที่ต้องการ + Forum หรือเว็บบอร์ดที่ต้องการ
เมื่อค้นเจอ Forum ที่ต้องการแล้ว จะเห็นได้ว่า Forum จะแบ่งเป็น Section ไว้อยู่แล้ว และ Section เหล่านี้ ถือเป็นแหล่งหาคีย์เวิร์ดชั้นเยี่ยมสำหร้บการทำ SEO และยังสามารถเข้าไปดูเนื้อหา หรือปัญหาที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายโพสต์ไว้ในนั้นได้ด้วย
การใช้เครื่องมือค้นหาคีย์เวิร์ด
เครื่องมือที่ใช้ทำ Keyword Research จะช่วยให้การค้นหาคีย์เวิร์ดของเราง่ายขึ้นมาก ซึ่งมีเครื่องมือยอดนิยมอะไรบ้าง เรามีมาฝากกัน
- Google Keyword Planner เครื่องมือที่เหล่านักการตลาดออนไลน์ให้ความ ไว้วางใจมากที่สุดในการค้นหาข้อมูลคีย์เวิร์ด เพราะต่างจากเจ้าอื่นตรงที่ข้อมูลที่เราได้นั้นมาจาก Google โดยตรง แต่จุดด้อยของเครื่องมือนี้อยู่ตรงที่ Google ออกแบบมาเอื้อประโยชน์กับผู้ที่ลงโฆษณาใน Google Ads ไม่ใช่การทำ SEO โดยตรงนั่นเอง
- ExplodingTopics.com เครื่องมือนี้ค่อนข้างคล้ายกับ GoogleTrends แต่ดีกว่า โดยจะลิสต์คำค้นหายอดนิยมจากเว็บต่าง ๆ และวิเคราะห์สถิติรวมไว้ และยังแบ่งหัวข้อเป็นหมวดหมู่ให้ด้วย
- Keyword Surfer เครื่องมือนี้น่าจะเป็นที่ชื่นชอบของเหล่านักการตลาดออนไลน์ เพราะว่าแสดงผล คีย์เวิร์ดจาก Google Search โดยตรง ซึ่งถ้าจะใช้งานก็ต้องลง Chrome Extension ก่อน จากนั้นก็สามารถหาผ่าน Google ได้เลย โดยจะโชว์ข้อมูลให้เห็นว่าได้รับความนิยมมากน้อยเพียงใด พร้อมคำคีย์เวิร์ดที่ใกล้เคียง
- Ubersuggest เครื่องมือที่เพิ่งอัพเกรดและยกเครื่องขนานใหญ่ไปเมื่อไม่นานนี้ โดยยังคงสร้างชุดคำคีย์เวิร์ดโดยอิงจากการค้นหาทาง Google เป็นหลัก แต่ก็ให้ข้อมูลของแต่ละคีย์เวิร์ดด้วยว่ามีจำนวนการค้นหามากน้องเพียงใด มี Cost Per Click เท่าไร
- SEMrush หากคิดจะเสียเงินใช้เครื่องมือค้นหาคีย์เวิร์ด SEMrush จะช่วยให้เราประหยัดเวลาได้มาก เพราะมีคำการจัดอันดับคำคีย์เวิร์ดไว้ด้วย แทนการสุ่มหาคำคีย์เวิร์ดเหมือนเครื่องมืออื่น ๆ จึงเหมาะแก่การดึงคีย์เวิร์ดมาใช้งานได้เลย
- Ahrefs แม้ว่าเครื่องมือนี้นิยมใช้ในการทำ Link Building แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า Ahrefs สามารถใช้ค้นหาคีย์เวิร์ดได้ดี และแสดงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำ SEO ด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราตัดสินใจได้ว่าคีย์เวิร์ดนี้ควรนำไปใช้งานหรือไม่
ความยากง่ายในการใช้คีย์เวิร์ด
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคีย์เวิร์ดยอดนิยมที่เราเลือกมาใช้นั้น มักจะมีการแข่งขันที่สูงมาก ซึ่งก็อาจจะทำให้เว็บไซต์ไม่ติดอันดับในหน้าแรก แต่ถ้าเลือกคีย์เวิร์ที่ไม่มีคู่แข่งใช้เยอะก็มีโอกาสสูงมากที่บทความของเราติดอยู่ในอันดับท็อป 3 ได้เช่นกัน และนี่คือวิธีที่จะช่วยให้เห็นว่าคีย์เวิร์ดที่เลือกใช้งานนั้นมีระดับแข่งขันเป็นอย่างไร
- คีย์เวิร์ดยาว ๆ
หากเป็นเว็บไซต์หน้าใหม่ หรือต้องการให้คีย์เวิร์ดที่ใช้ไม่มีคู่แข่งแบบ 100% ก็ต้องใช้คีย์เวิร์ดยาว ๆ (Long Tail Keyword) ซึ่งเป็นวลีที่มีมากกว่า 4 คำขึ้นไป และมีข้อความเฉพาะเจาะจง โดยจะตัดปัญหาเรื่องคู่แข่งไปได้ เพราะปริมาณในการค้นหาคำเหล่านี้จะมีเพียง 10-200 ครั้ง/เดือน
- เช็กจากหน้าแรกของ Google
การค้นหาคีย์เวิร์ดที่ต้องการ โดยดูอันดับของบทความที่อยู่ในหน้าแรกของ Google หากพบว่ามีแต่เว็บไซต์ดัง ๆ (เช่น Wikipedia) ก็อาจจะต้องมองหาคำคีย์เวิร์ดอื่น ๆ แทน แต่ถ้ามีเว็บไซต์ หรือบล็อกเล็ก ๆ ติดอันดับอยู่ในหน้าแรกด้วย ก็มีโอกาสที่เว็บไซต์ของเราจะขึ้นมาติดหน้าแรกของ Google ได้เช่นกัน
- เช็กระดับความยากง่ายของคีย์เวิร์ดจากเครื่องมือค้นหาคีย์เวิร์ด
จากที่ก่อนหน้านี้เราได้แนะนำเครื่องมือค้นหาคีย์เวิร์ดอะไรบ้าง ก็นำคำคีย์เวิร์ดที่ต้องการไปใส่ในเครื่องมือเหล่านั้น เพื่อเช็กว่ามีคู่แข่งที่ใช้คำค้นหานั้น ๆ มีสัดส่วนมากน้อยเพียงใด และคียเวิร์ดที่ใช้มีระดับความยากง่าย (Keyword Difficulty) อย่างไร ซึ่งเครื่องมือที่มีฟีเจอร์นี้อยู่ด้วย ได้แก่ SEMrush, Ahrefs, KWFinder, Moz Pro ขณะที่ CanIRank เป็นเครื่องมือที่พุ่งเป้าไปที่ Keyword Difficulty เพียงอย่างเดียว โดยจะประเมินค่าความยากของคีย์เวิร์ดด้วยการจัดอันดับให้เห็นอย่างชัดเจน
หลักการเลือกคีย์เวิร์ด
หลังจากได้ลิสต์คีย์เวิร์ดมาแล้ว ก็ได้เวลามาเลือกคีย์เวิร์ดที่ดีที่สุด ซึ่งหลักในการเลือกคีย์เวิร์ด ต้องพิจารณาจากปัจจัยเหล่านี้
- Search Volume (ปริมาณการค้นหา) ยิ่งมีคนค้นหาคำนี้มากเท่าไร ก็ยิ่งมี Traffic เข้ามามากขึ้นเท่านั้น ซึ่งปริมาณการค้นหาคีย์เวิร์ดก็ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจด้วย
- Organic Click–Through–Rate (อัตราการคลิกโดยไม่ผ่านการโฆษณา) ปกติสถิติของ Organic CTR มักจะดิ่งลงมากกว่าพุ่งขึ้น ซึ่งเป็นเพราะฟีเจอร์ Snippets ของ Google แสดงข้อมูลในเว็บไซต์ให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องคลิกเข้าไปดูเนื้อหาอย่างละเอียดในบทความนั่นเอง นอกจากนี้ Google ยังเพิ่มพื้นที่ให้บทความที่จ่ายเงินโฆษณาในหน้าแรกมากขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วย จึงต้องใช้เครื่องมือ SERP (Search Engine Results Page) ในการแสดงอันดับบนเว็บ Search Engine จากนั้นให้ใช้เครื่องมือค้นหาคียเวิร์ดอย่าง Ahrefs และ Moz Pro ในการประเมิน Organic CTR ว่าเป็นอย่างไร
- Difficulty (ความยากง่ายในการไต่อันดับ) กรณีที่เป็นเว็บไซต์น้องใหม่ ควรเริ่มต้นด้วยคีย์เวิร์ดที่มีการแข่งขันต่ำก่อนเป็นอย่างแรก เมื่อเว็บไซต์เริ่มเป็นที่รู้จัก จึงค่อยเริ่มใช้คีย์เวิร์ดที่มีการแข่งขันสูงขึ้น
- CPC หรือ Cost Per Click (การจ่ายเงินต่อคลิก) เป็นมาตรวัดว่าโฆษณาที่จ่ายเงินไปนั้น มีราคาต่อคลิกประมาณเท่าไร เพื่อประเมินว่าคีย์เวิร์ดที่คนค้นหานั้นเสียเงินโฆษณาด้วยหรือไม่ ซึ่งเครื่องมืออย่าง Ahrefs จะมีสถิติโชว์ให้เห็นว่าคีย์เวิร์ดนั้น ๆ มี CPC เท่าไร ซึ่งถ้าเป็นคีย์เวิร์ดที่ไม่ได้มีคนค้นหามากนัก แต่มี CPC สูง ก็ถือเป็นคีย์เวิร์ดที่ได้ผลเช่นกัน
- เทรนด์ในการค้นหาคีย์เวิร์ดนั้น ๆ เราสามารถรู้ได้ว่าคำค้นหาใดกำลังได้รับความนิยมในช่วงนั้น ๆ ด้วยการเช็กผ่าน Google Trends ซึ่งจะโชว์เป็นกราฟให้เห็นว่ามีการค้นหามากน้อยเพียงใดในช่วงนั้น ๆ
เทคนิค Keyword Research ต่าง ๆ
- Barnacle SEO – การทำให้บทความติดอันดับในหน้าแรกของ Google ด้วยการอาศัยพื้นที่จากเว็บไซต์ยอดนิยม อาทิ YouTube, LinkedIn, Medium ในการทำคอนเทนต์ และมี Backlink กลับไปที่เว็บไซต์ของเรา
- GSC (Google Research Console) – เครื่องมือที่เปรียบได้กับแหล่งขุมทรัพย์ในการหาไอเดียเรื่องคีย์เวิร์ด ซึ่งหน้า Performance Report จะรายงานคำยอดนิยมที่มีการค้นหาทั้งหมดในเว็บไซต์ Google พร้อมทั้งมีสถิติด้วยว่ามีผู้คนเห็นมากน้อยเพียงใด เพื่อจะได้เลือกคีย์เวิร์ดให้ตอบโจทย์ที่สุด
- ใช้คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องและมีความหมายเดียวกันร่วมด้วย – นอกจากใส่คีย์เวิร์ดหลักแล้ว อย่าลืมใส่คำที่มีความหมายเดียวกัน หรือคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องลงไปในบทความด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Traffic ให้กับเว็บไซต์ของเราได้มากขึ้น
- ใช้ฟีเจอร์ Content Gap ของ Ahrefs – ฟีเจอร์นี้จะแสดงค่าและตารางเทียบคีย์เวิร์ดที่เว็บไซต์ดัง ๆ ติดอันดับมี แต่เว็บไซต์ของเรายังไม่มี
- หาคีย์เวิร์ดข้างเคียง – แทนที่จะใส่คีย์เวิร์ดที่มีการแข่งขันสูง ให้หาคีย์เวิร์ดข้างเคียงที่ยังคงเกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์หรือสินค้าที่เราขาย เพื่อเพิ่มโอกาสในการค้นเจอได้มากขึ้น เช่น เว็บไซต์ Ecommerce ที่ต้องขายแป้นบาสเกตบอล ก็อาจจะใส่คีย์เวิร์ดข้างเคียง เช่น วิธียิงลูกบาสให้ลงห่วง หรือรวมไฮไลต์การสแลมดังก์ เป็นต้น
หากนำคำแนะนำเหล่านี้ไปปรับใช้ เพื่อค้นหาคีย์เวิร์ดที่ดีที่สุดสำหรับการทำบทความ SEO ก็จะช่วยเว็บไซต์ของคุณติดอันดับอยู่ในหน้าแรกของ Google ได้ง่ายขึ้น แม้มีคู่แข่งอยู่มากมายก็ตาม
ที่มา: backlinko
บทความที่เกี่ยวข้อง: เคล็ดลับ ทำ SEO สู่การเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำอันดับบน google