คู่มือการใช้แอปฯ LINE ทำการตลาดให้ได้ผลด้วยบริการ LINE OA
การทำการตลาดกับลูกค้ามีหลากหลายวิธี แต่จะทำการตลาดให้ได้ผลก็ต้องเลือกช่องทางให้เหมาะกับลูกค้าของเราด้วย ซึ่งปัจจุบัน ธุรกิจต่าง ๆ หันมาทำการตลาดผ่าน แอปพลิเคชัน LINE กันมากขึ้น แค่เฉพาะญี่ปุ่นประเทศเดียว มีผู้ใช้ LINE มากกว่า 79 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นกว่า 60% ของประชากรญี่ปุ่น และในจำนวนผู้ใช้แอปฯ LINE มีถึง 85% ที่ใช้งานเป็นประจำทุกวันด้วย ซึ่งจากตารางเปรียบเทียบการใช้งานโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่น พบว่า LINE ครองตลาดญี่ปุ่นอย่างมีนัยยสำคัญ เพราะไม่ได้เป็นแค่แอปฯ ที่ใช้พูดคุยกันอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังทำให้ชีวิตของชาวญี่ปุ่นง่ายขึ้นด้วย อาทิ คุยโทรศัพท์ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อ่านข่าวสาร สั่งอาหาร จ่ายเงินร้านค้าปลีกต่าง ๆ
กลุ่มผู้ใช้แอปฯ LINE มีใครบ้าง?
LINE มีกลุ่มผู้ใช้งานค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป และกว่าครึ่งคือกลุ่มผู้ใช้งานที่ใช้ LINE ผ่านอินเทอร์เน็ตในมือถืออย่างเดียว ขณะที่อีก 42% ใช้ LINE ทั้งผ่านคอมพิวเตอร์และมือถือ
ยิ่งไปกว่านั้น 81.8%ของประชากรญี่ปุ่นที่ใช้ Social Media บนมือถือต่างใช้แอปฯ LINE กันทั้งสิ้น ขณะที่ 34.4%ใช้ Twitter, 27.5% ใช้ Facebook และ 39.9% ของผู้ที่ใช้ LINE ก็ไม่ได้ใช้โซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่น ๆ นั่นหมายความว่าความพยายามในการทำการตลาดทางโซเชียลมีเดียที่ได้ผลจำเป็นต้องใช้ช่องทางผ่าน LINE ด้วย
บริการ LINE OA จาก LINE คือช่องทางทำธุรกิจ
LINE มีบริการที่เรียกว่า LINE Official Account (LINE OA) เพื่อให้แบรนด์หรือเจ้าของธุรกิจได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรง และมีฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในการส่งเสริมธุรกิจโดยเฉพาะ ซึ่งแบ่งแผนการให้บริการลูกค้าเป็น 3 ประเภท ได้แก่ บัญชีที่เป็น Premium Account, Verified Account และ Unverified Account
ทั้งนี้ บัญชี LINE OA ทั้ง 3 ประเภท จะมีฟังก์ชันในการทำธุรกิจไม่ต่างกัน เพียงแต่ Premium Account และ Verified Account จะสามารถค้นหาบัญชีผ่านแอปฯ LINE ได้ แต่ Unverified Account ไม่สามารถทำได้ ขณะที่ Premium Account ต้องมีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนดไว้ด้วยจึงจะได้รับการยืนยันและรับสถานะเป็นบัญชีพรีเมียม
ส่วนราคาในการใช้บริการ จะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้ LINE OA ของแบรนด์ว่าต้องการส่งข้อความหาลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายมากน้อยเพียงใด โดยจะแบ่งเป็น Free Plan, Light Plan และ Standard Plan ซึ่งแต่ละแผนจะจำกัดจำนวนข้อความในการส่งหากลุ่มเป้าหมาย และค่าใช้จ่ายต่อเดือนแตกต่างกันไป
รู้จัก 3 ฟังก์ชันพื้นฐานของ LINE OA
1.ส่งข้อความ
คุณสามารถส่งข้อความไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เพิ่มคุณเป็นเพื่อนได้ ซึ่งหมายถึง Follower หรือผู้ติดตาม LINE OA ของเรานั้นเอง เมื่อกดติดตามแล้วและกลุ่มเป้าหมายเปิดการแจ้งเตือนเอาไว้ เมื่อแบรนด์ของคุณส่งข้อความต่าง ๆ ไปหาเฉพาะรายบุคคล ก็จะมีอัตราเห็นข้อความสูง ซึ่งมีเกือบ 70% เลยทีเดียวที่ผู้ใช้แอปฯ LINE เปิดอ่านข้อความที่แบรนด์หรือร้านค้าส่งไปหา
2.โพสต์บน Timeline Feed
การใช้งานส่วนนี้ไม่แตกต่างจากแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายอื่น ๆ แต่อย่างใด โดยแอปฯ LINE จะมี Timeline Feed ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ทุกครั้งที่แบรนด์หรือร้านค้าโพสต์ข้อความผ่านทาง LINE OA ก็จะไปปรากฏอยู่บนหน้า Timeline Feed ของผู้ติดตามด้วย
3.แชทกับผู้ใช้แอปฯ LINE
นอกเหนือจากการส่งข้อความหาลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายแล้ว LINE OA ยังสามารถแชทหรือสนทนาโต้ตอบกับลูกค้าได้ด้วย โดยสามารถแชทข้อความหาผู้ใช้งานแบบทีละคน หรือส่งเป็นกลุ่มก็ได้เช่นกัน อีกทั้งยังสามารถตอบกลับข้อความแบบอัตโนมัติได้ด้วยข้อความสุ่มหรือข้อความที่ตรงกับคำคีย์เวิร์ดที่กำหนดไว้ การแชตผ่านทางทาง LINE OA จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการให้บริการลูกค้า หรือเสนอสิทธิพิเศษเป็นคูปองส่วนลด หรือแจ้งที่ตั้งของร้านได้
บริการเสริมช่วยการตลาดสำหรับ LINE OA
นอกเหนือจาก 3 ฟังก์ชันหลักข้างต้นแล้ว LINE ยังมีบริการเสริมสำหรับ LINEOA บัญชีทุกประเภทเพื่อช่วยเรื่องการตลาดด้วย ได้แก่
1.กำหนดกลุ่มเป้าหมาย – สามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายได้ว่าจะส่งหาใครตามปัจจัยเหล่านี้
- เพศ
- ช่วงอายุ
- สถานที่อยู่อาศัย
- ระบบปฏิบัติการมือถือ (Android, iOS)
- ระยะเวลาที่ผู้ใช้งานติดตามบัญชี LINE OA
2.ระบบการให้รางวัลและมอบคูปอง – เป็นการจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาซื้อสินค้าและบริการที่ร้านค้าของคุณ โดยสามารถจัดการคะแนนสะสมในแอปฯ LINE ด้วยการมอบคูปองส่วนลดพิเศษ หรือใช้แต้มแลกของสมนาคุณได้
3.รายงานผลและวิเคราะห์ – ใน Dashboard ของ LINE OA จะสามารถเข้าไปเช็คค่า KPI หรือดัชนีชี้วัดความสำเร็จในทางการตลาดว่ากลยุทธ์ที่ใช้ไปนั้นประสบความสำเร็จหรือไม่ อาทิ จำนวนการคลิกเข้าชม, จำนวนครั้งที่คนเห็นโพสต์, การมีส่วนร่วม และยอดผู้ติดตาม
5.ฟังก์ชันเสริม – การใช้ประโยชน์ในการทำการตลาดให้เกิดประโยชน์สูงสุด สามารถนำฟังกชันเสริมไปใช้ได้ แต่ก็จะมีค่าใช้จ่ายด้วยเช่นกัน ซึ่งฟังก์ชันเสริมที่แนะนำ ได้แก่ 1) Sticker, 2) API และ 3) Ads
1)Sticker – เป็นการประชาสัมพันธ์ที่ทำให้ลูกค้ามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยผู้ใช้สติกเกอร์สามารถแสดงอารมณ์แทนการพิมพ์ข้อความได้ ซึ่งจากสถิติของ LINE พบว่าจำนวนผู้ใช้สติกเกอร์ใน LINE เป็นประจำทุกวันนั้นมีมากกว่า 80% เลยทีเดียว
ปัจจุบัน มีสติกเกอร์ด้วยกัน 4 ประเภท ดังนี้
- Pre-Installed Sticker สติกเกอร์ที่ติดมากับแอปฯ LINE ตั้งแต่แรก
- Official Sticker สติกเกอร์ที่จำหน่ายโดย LINE
- Promotional Sticker สติกเกอร์ที่แบรนด์เป็นสปอนเซอร์ ผู้ใช้สามารถดาวน์โหลดมาใช้ฟรี แต่มีเงื่อนไขบางประการ (เช่น กดเพิ่มเพื่อนกับแบรนด์) และมีอายุใช้งานอยู่ประมาณ 4 สัปดาห์
- Creator’s Sticker สติกเกอร์ที่ออกแบบโดยคนทั่วไปหรือแบรนด์ โดย 65% ของยอดขายสติ๊กเกอร์ทั้งหมดมาจากส่วนนี้ ซึ่งสามารถซื้อได้ใน LINE Creators Market และไม่ว่าใครก็สามารถสร้างสติกเกอร์ลงขายในนี้ได้
ประเภทย่อยของ Promotional Sticker มีอะไรบ้าง?
- Sponsor เป็นสติกเกอร์ร่วมกับ LINE ซึ่งจะผ่านตาผู้ใช้เป็นวงกว้างมากกว่าแบบอื่น
จุดเด่น – ผ่านตาคนหมู่มาก เพราะ LINE ช่วยโฆษณาให้
– ช่วยเพิ่มยอด Follower ได้อย่างมหาศาล
จุดด้อย – มีราคาสูง โดยในญี่ปุ่น สติกเกอร์ 8 รูป ราคาเริ่มต้นที่ 35 ล้านเยน หรือประมาณ 10.6 ล้านบาท และหากทำสติกเกอร์ 16 รูป ราคาเริ่มต้นที่ 40 ล้านเยน หรือประมาณ 12.1 ล้านบาท
– LINE Promote ให้แค่ 4 แบรนด์ต่อสัปดาห์
- Direct เป็นสติกเกอร์ที่ดาวน์โหลดได้โดยตรงจากแบรนด์ ไม่ต้องผ่าน LINE Sticker Shop
จุดเด่น – ราคาย่อมเยากว่า โดยในญี่ปุ่น สติกเกอร์ 8 รูป มีราคาเริ่มต้นที่ 10 ล้านเยน หรือ 3 ล้านบาท และสติกเกอร์ 16 รูป ราคาเริ่มต้นที่ 15 ล้านเยน หรือ 4.5 ล้านบาท
จุดด้อย – ต้องทำโฆษณาเอง
2) API (Applications Program Interface) – โปรแกรมส่งข้อความตอบรับอัตโนมัติ ซึ่งบางแบรนด์ใช้ฟีเจอร์นี้ในการดูแลลูกค้าไม่ต่างจากฝ่าย Customer Service และหากมีทีม Customer Support คอยตอบคำถามลูกค้าอยู่แล้ว การใช้ API จะช่วยอุดช่องว่างในการการติดต่อสื่อสารกับลูกค้าได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะไม่ได้มีการเพียงการตอบข้อความแบบ Chatbot เท่านั้น แต่ยังมีพนักงานคอยตอบคำถามให้ด้วย หรือบางแบรนด์อาจมีการโทรศัพท์โดยใช้ LINE Call ร่วมด้วย
3) Ads – การใช้งานของ Ads หรือการทำโฆษณาผ่าน LINE OA มีความคล้ายคลึงกับโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่น ๆ โดย LINE จะมีแพคเกจ โฆษณาให้เลือกสรรมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตรงพื้นที่แชท, หน้าข่าวสาร, Timeline ของผู้ใช้งาน, การ์ตูน, บล็อก หรือโปรแกรมสมนาคุณพิเศษต่าง ๆ
ทั้งหมดนี้คือคู่มือในการใช้แอปฯ LINE สำหรับทำการตลาดให้ได้ผล และทำให้คุณเข้าใจรูปแบบในการทำการตลาดผ่าน LINE OA ได้มากขึ้น รวมถึงไว้ศึกษาตลาดของกลุ่มเป้าหมายเพื่อช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจได้เร็วยิ่งขึ้น!
ที่มา: blog.btrax
บทความที่เกี่ยวข้อง: ฟีเจอร์ของ LINE@ สำหรับตอบสนองธุรกิจของคุณ