5 ทิศทางของ 5 โซเชียลมีเดียยอดนิยมในไทยปี 2018
- 19 mins
Facebook, Twitter, YouTube, LINE, Pantip
สรุปประเด็นสำคัญของทิศทางโซเชียลมีเดียยอดนิยมในไทยทั้ง 5 จาก 5 ผู้บริหารแพลตฟอร์มในประเทศไทย ซึ่งได้แก่ คุณดวงพร พรหมอ่อน (Facebook Thailand), คุณชนะชัย ไชยปัญญา (MediaDonuts Twitter Exclusive Partner), คุณไมเคิล จิตติวาณิชย์ (Google Thailand), คุณนรสิทธิ์ สิทธิเวชวิจิตร (LINE Thailand), คุณอภิศิลป์ ตรุงกานนท์ (Pantip.com)
ความโดดเด่นของการใช้งาน Facebook ในบ้านเรานั้นถูกเทไปที่ฟีเจอร์สำหรับการขายของอย่าง Marketplace รวมทั้งการใช้ Facebook Live ที่เรียกได้ว่าถูกนำมาใช้ช่องทางเพื่อการขายของสำหรับผู้ค้ารายย่อยเป็นหลักเลยก็ว่าได้ อย่างที่เราเห็นกันเยอะๆ เช่น ร้านขายเสื้อผ้าออนไลน์ที่มักจะมีการไลฟ์โชว์เสื้อผ้าแล้วให้คนมากดจอง เป็นต้น และในปีนี้ Facebook ก็มีแพลนว่าจะปล่อยฟีเจอร์ใหม่เพื่อมาเอาใจกลุ่มผู้ใช้ประเภท SMEs และธุรกิจส่วนตัว อีกด้วย
ในส่วนของพฤติกรรมการใช้งาน Facebook นั้น คนก็มักจะใช้กันเป็นปกติตลอดวัน แต่จะมากเป็นพิเศษในช่วงเวลาระหว่างการเดินทาง พฤติกรรมดังกล่าวนี้สอดคล้องกันกับคอนเทนต์ที่คนเลือกดู ซึ่งมักจะเป็นคอนเทนต์เบาๆ เสียมากกว่าคอนเทนต์หนักๆ ซึ่งมีประมาณ 10% เท่านั้น
สำหรับนักการตลาดแน่นอนว่าการติดตามไกด์ไลน์จาก Facebook โดยตรงยังคงเป็นสิ่งสำคัญ รวมทั้งการรู้จักใช้โพสต์รูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ เช่น โพล(แบบสำรวจ) และอีกสิ่งที่น่าสนใจก็คือการใช้งาน “แชทบอต (Chat bot)” ผ่านทางแพลตฟอร์ม Messenger ที่ในปัจจุบันก็ถูกใช้ในด้านการซับพอร์ตลูกค้าอยู่ ซึ่งเราก็อาจประยุกต์มาใช้สร้างยอดหรือสร้างการเข้าถึงแบรนด์ เช่น การจัดเกมหรือกิจกรรมส่งเสริมการขาย เป็นต้น
ในปีที่แล้ว ประเทศไทยของเรามีอัตราการเติบโตของยอดผู้ใช้ Twitter สูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก อาจเพราะการอัปเดตของข่าวสารต่างๆ ที่รวดเร็วทันต่อสถานการณ์ อยากรู้เรื่องอะไรคนจึงเลือกที่จะเข้ามาหาดูใน Twitter ทำให้ทิศทางในปีนี้ Twitter ก็จะมีการร่วมมือกับบริษัทผู้จัดทำคอนเทนต์ในไทย รวมถึงการเปิดช่องสำหรับโฆษณามากขึ้น
ในส่วนการทำการตลาดนั้น ก่อนอื่นเลยคุณจะต้องเข้าใจก่อนว่า การลงโฆษณากับ Twitter นั้น กลุ่มเป้าหมายจะได้ถูกเซ็ตขึ้นมาจากข้อมูลทั่วไป อย่าง เพศ ช่วงอายุ แบบ Facebook แต่จะเป็นการเซ็ตจาก “ความสนใจ” เช่น เซ็ตจาก influencers ที่มีคนมากดติดตาม หรือเซ็ตจาก “คีย์เวิร์ด” ที่ใช้ค้นหา
Youtube
พฤติกรรมการใช้งาน YouTube ในปีที่ผ่านมามีกระแสที่สำคัญเกิดขึ้นมา 3 อย่าง คือ การนำคอนเทนต์จากรายการทีวีมาลงย้อนหลังใน YouTube, การขยายตัวของกลุ่มเป้าหมายไปสู่ชนบทจากที่เคยมีแต่เฉพาะคนเมือง เพลงลูกทุ่งก็ติดอันดับใน YouTube แล้ว แถมมากกว่าครึ่งหนึ่งเสียด้วย และจำนวนชาแนลที่มีผู้ติดตามมากกว่า 1 ล้านคน ที่เพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัว (มากกว่า 30 ชาแนลแล้วในตอนนี้)
ในแง่การตลาดความน่าสนใจจึงไปอยู่ที่การใช้กระแสของคอนเทนต์ทั้ง 3 นี่แหละ ร่วมกับฟีเจอร์ใหม่ TrueView for action (ที่ถูกเปิดตัวมาสักพักแล้ว แต่ในไทยยังเงียบอยู่) ซึ่งรูปแบบจะเป็นวีดีโอโฆษณาต้นต้นคลิปตามปกติเลย แต่จะเพิ่มปุ่มแอคชั่นบางอย่างเข้ามาสำหรับให้คนที่สนใจการทำการบางอย่างได้ เช่น อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสั่งซื้อสินค้า ฯลฯ
LINE
แนวโน้มของกลุ่มผู้ใช้ LINE ในปัจจุบันนั้นดูจะเติบโตไปในกลุ่มคนรุ่นใหญ่ Gen-X หรือ Baby boomers โดยทิศทางในปีนี้ของ LINE นั้นจะเน้นไปที่การนำ BCRM (Business Connect for CRM) มาใช้ร่วมกับฐานข้อมูล เพื่อปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าเป็นรายคนเลย เช่น การแจ้งเตือนการใช้บัตรเครดิตผ่าน LINE ซึ่งจะมีประโยชน์มากสำหรับการให้บริการหลังการขาย เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อลูกค้านอกจากนี้ก็ยังมีข่าวว่าทาง LINE กำลังเตรียมเปิดตัว LINE Idol สำหรับการตลาดสาย Influencer อีกด้วย ส่วนนี้คงต้องรอติดตามกันต่อไป
Pantip
ในปีที่ผ่านมานี้สถิติ 2 ห้องที่ฮิตที่สุดของ Pantip คือ ห้องบางขุนพรหม(ละคร) กับ ห้องศุภชลาศัย(กีฬา) ส่วนห้องมีผู้ใช้มีแอคทีฟสูงสุดนั้นจะเป็น ห้องศาลาประชาคม สำหรับทิศทางของ Pantip ในปีนี้ดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับการแสดงออกซึ่งความจริงใจของแบรนด์ต่อผู้บริโภคมากขึ้น ด้วยการเปิด 2 บริการใหม่สำหรับให้แบรนด์เข้ามาทำการตลาด คือ Brand expert account สำหรับให้แบรนด์เอาไว้โพสต์เนื้อหาสาระต่างๆ ด้วยตัวเอง และ Branded content คือบทความโฆษณาของแบรนด์ ซึ่งสามารถปักหมุดได้ 7 วัน